ประวัติมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
“มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช” มีกำเนิดและพัฒนาจาก “โรงเรียนฝึกหัดครูนครศรีธรรมราช” โดยเริ่มแรกในปี พ.ศ.2448 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้มีการจัดตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดครูเมืองนครศรีธรรมราช” ขึ้น โดยใช้กุฏิของพระวัดท่าโพธิ์เป็นสถานที่เรียน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2500 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครู
นครศรีธรรมราช แต่เนื่องจากก่อสร้างอาคารเรียนไม่ทัน จึงเปิดทำการสอนชั่วคราวที่อาคารห้องสมุดประชาชน สนามหน้าเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช และในปี พ.ศ. 2502 เปิดสอนจริงในสถานที่ปัจจุบัน
ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงเขามหาชัย หมู่ที่ 4 ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชไปทางทิศตะวันตกตามถนนนคร–นบพิตำ เป็นระยะทาง
13 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสถานที่ที่พลเอกมังกร พรหมโยธี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มาสำรวจและตกลงใจที่จะจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นมาใหม่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อตั้งตาม
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 9 มกราคม 2500 โดยพลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ใช้เปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 17
พฤษภาคม 2500 ด้วยหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) เปิดรับนักเรียนมัธยมปีที่ 6 จาก 6 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง ชุมพร และ
นครศรีธรรมราช หลังจากเปิดสอนได้ 12 ปี จึงได้รับการยกฐานะเป็น “วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช” ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2512 ด้วยหลักสูตรประกาศนียบัตร
วิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.ชั้นสูง) ต่อมาสามารถเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรีตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พุทธศักราช 2518 และพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พุทธศักราช 2538 ตามลำดับ
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 ได้รับพระราชทานชื่อ “ราชภัฏ” แทนคำ “วิทยาลัยครู” พร้อม ๆ กับวิทยาลัยครูอื่น ๆ ทั่วประเทศ จากนั้นจึงได้รับการตราพระราชบัญญัติเพื่อกำกับควบคุม
ดูแลและพัฒนาสถาบันขึ้นชื่อว่า “พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ” เมื่อพุทธศักราช 2538 ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ.2547 ในชื่อ “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พุทธศักราช
2547” กำหนดให้มีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงเปิดสอนในระดับ
ปริญญา ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู
ต่อมาใน พ.ศ. 2562 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2562 โดยแต่งตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีหน้าที่
กำกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาแทนกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชจึงมีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โดยมีพันธกิจผลิตบัณฑิต เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศ สามารถเปิดสอนทั้งระดับปริญญาตรีจนถึงระดับปริญญาเอกได้ ควบคู่ไปกับด้านการวิจัยสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม
การพัฒนาท้องถิ่นและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการบริหารจัดการให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ภายใต้ปรัชญา “ประทีปถิ่น ประเทืองไทย ก้าวไกลสู่สากล”
ประวัติกองนโยบายและแผน
กองนโยบายและแผน เดิมเมื่อปี 2527 มีฐานะเป็นแผนกในสำนักงานอธิการ เรียกว่า “แผนกแผนงานและประเมินผล” ก่อนหน้าประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครูฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม
พุทธศักราช 2527 ต่อมาเมื่อมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการแบ่งส่วนราชการในวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2530 แผนกแผนงานและประเมินผลได้ยกฐานะขึ้นเป็น
“สำนักวางแผนและพัฒนา” ประกอบด้วยส่วนราชการ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายเลขานุการ ฝ่ายวางแผนและประเมินผล และฝ่ายสถิติข้อมูล
ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏพุทธศักราช 2538 สำนักวางแผนและพัฒนา ได้แบ่งส่วนราชการเป็น 5 ฝ่าย ทำหน้าที่กำหนดแนวทางจัดทำแผนงานและโครงสร้าง
ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทำงบประมาณของสถาบัน ติดตามประเมินผลการใช้งบประมาณประจำปี ตลอดถึงการติดต่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านงบประมาณภายนอกสถาบัน
ในปี พ.ศ. 2541 ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2541 เรื่องแนวทางในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดตั้งหรือแบ่งส่วนราชการ สถาบันจึงได้ออกประกาศสถาบัน
ราชภัฏนครศรีธรรมราช เรื่องการแบ่งส่วนราชการในสถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2543 ให้สำนักวางแผนและพัฒนา เป็นสำนักมีฐานะเท่าเทียบคณะโดยให้มีสำนักงานเลขานุการ
โดยประกอบไปด้วย กลุ่มอำนวยการ ได้แก่ ฝ่ายเลขานุการ ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ ฝ่ายติดตามและประมวลผล กลุ่มสถิติและข้อมูล กลุ่มวิเทศสัมพันธ์
ในปี พ.ศ. 2546 กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ปรับไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของรองอธิการบดี ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ตั้งเป็นหน่วยวิเทศสัมพันธ์ ดังนั้นโครงสร้างที่ดำเนินการของสำนักวางแผนและพัฒนา
ในปี พ.ศ. 2546 - 2547 มี 4 กลุ่มงาน คือ งานอำนวยการ งานนโยบายและแผน งานงบประมาณ และงานติดตามและประเมินผล
ในปี พ.ศ. 2548 เมื่อ วันที่ 7 มกราคม 2548 ถึง วันที่ 31 พฤษภาคม 2548 สำนักวางแผนและพัฒนา ได้เปลี่ยนชื่อ ตามโครงสร้างใหม่ เป็น “กองแผนงาน” มี 4 กลุ่มงาน คือ
งานบริหารงานทั่วไป งานนโยบายและแผน งานติดตามและประเมินผล และงานข้อมูลและสารสนเทศ
การดำเนินงานของสำนักวางแผนและพัฒนา ได้ดำเนินงานและพัฒนางานต่าง ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของสภาวะปัจจุบัน เพื่อการเตรียมการเป็นนิติบุคคล อย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุ
ตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของสำนักวางแผนและพัฒนา และสอดคล้องกับนโยบายการดำเนินงานของสถาบัน ต่อมาได้มีประกาศกระทรวง ภายใต้สำนักงานอธิการบดี แบ่งการบริหารงานเป็น 3 กอง
ซึ่งสำนักวางแผนและพัฒนา ได้เปลี่ยนชื่อ ตามโครงสร้างใหม่อีกครั้ง เป็น “กองนโยบายและแผน” ตามประกาศกระทรวงซึ่งลงในราชกิจจานุเบกขา วันที่ 3 สิงหาคม 2549
ปัจจุบันกองนโยบายและแผน ได้แบ่งงานภายในออกเป็น 5 งาน ได้แก่ งานบริหารงานทั่วไป งานนโยบายและแผน งานงบประมาณ งานข้อมูลและสารสนเทศ และงานติดตามและประเมินผล